30 เมษายน 2554

ห้องอุ่นเย็น

ในช่วงเวลายามเช้า
เครื่องปรับอากาศถูกตั้งเวลาปิดไปตั้งแต่ตีห้า
ตั้งแต่นั้น ไอเย็นของเครื่องปรับอากาศจะถูกขังอยู่ในห้อง
ห้องที่จะค่อยๆอุ่นขึ้นเรื่อยๆจากแสงอาทิตย์
ฉันชอบแช่ตัวเองอยู่ในไอเย็น ผสมความอุ่นๆนั้น
นอนคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย
จนกว่าแสงแดดจะไล่ไอเย็นหายไปจนหมด
ฉันเริ่มวันใหม่อีกครั้งหนึ่ง...

20 เมษายน 2554

ปัตตานี เมื่อปีที่แล้ว...

เมื่อช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หน้าที่การงานนำพาให้ได้เดินทางไปที่ปัตตานีอยู่บ่อยๆ ไปหลายครั้งต่อปี แต่ก็แทบไม่ได้ไปไหนนอกจากเขตพื้นที่ที่ต้องทำงานคือในโรงแรม แต่ก็แอบหวังว่าลึกๆอยากจะหาโอกาสทำความรู้จักกับจังหวัดนี้ให้มากกว่านี้

กว่าจะได้ออกมาเที่ยวจริงๆ ก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายของการทำงานในโครงการนี้เลยทีเดียว 2 ปีที่ทำงานมา ถือว่าเป็นปีที่ดี และเต็มไปด้วยเรื่องราวประทับใจใหม่ๆ เราโชคดีเหลือเกินที่แวดล้อมไปด้วย พี่ น้อง และอาจารย์ที่มีเมตตา และเป็น 2 ปีที่ช่วยขัดเกลามุมมองและทัศนคติในเรื่องต่างๆของเราด้วย ปัตตานีถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะพื้นที่ฉากสำคัญของเรื่องราวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

การได้ทำความรู้จักผู้คน ได้เห็นว่าเขาอยู่กันยังไง ทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น มีความเข้าใจบางเรื่องมากขึ้น และรู้สึกว่าพื้นที่นี้มันมีเสน่ห์มาก

เพิ่งไปค้นเจอไฟล์รูป ที่คิดว่าหายไปแล้วกับคอมพิวเตอร์เครื่องเก่า เลยพาย้อนกลับไปคิดถึงความทรงจำดีๆเมื่อปีที่แล้ว  เราถ่ายรูปไว้ไม่มาก แต่ก็ยังแอบดีใจที่ตอนนั้นไม่ขี้เกียจจนเกินไป เลยยังมีรูปเก็บไว้ให้ดูบ้าง : )



วิวจากหน้าต่างห้องนอน ที่ ซี เอส ปัตตานี


ซูมใกล้เข้ามาอีกนิด เหมือนอยู่เมืองนอกเลย



"มัสยิดกลาง" ยามโพล้เพล้



ลวดลายบนเงารั้ว มัสยิดกลาง




ได้มาแล้ว  "มัสยิดกรือเซะ"




มัสยิดเมื่อต้องแดด



ภายในมัสยิดที่เราไม่เคยรู้



รายละเอียดเล็กๆ



แพะเจ้าถิ่น นั่งนิ่งทำหน้าตลกให้เราถ่ายรูป




ระหว่างทาง...


ตอนนี้เราไม่ได้ทำงานนี้ต่อแล้ว แต่หวังไว้ว่าจะมีโกาสกลับไปที่ ปัตตานี อีกสักครั้ง
แล้วพบกันใหม่ : )

16 เมษายน 2554

ฝันไป...ในวันแดดจ้า

งีบหลับในวันที่แดดจ้า
ฉันฝัน...ถึงเธอ

มันเหมือนเรื่องจริงมาก
ทุกการเคลื่อนไหว คือเธอไม่ผิดเพี้ยน
ในฝัน เธอทำให้ฉันยิ้ม และกังวลใจ
เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา
ที่เธอมักผ่านมา ฝากความอบอุ่น
และ จากไปพร้อมความกังวลใจของฉัน

แดดร้อน ทำให้ลืมตาตื่น
งัวเงีย ไม่แน่ใจ ว่านี่ความฝันหรือความจริง
ฉันนอนลืมตา ตั้งหลักอยู่นาน
เพื่อให้แน่ใจ ว่าเป็นเพียงฝันไป

ดีแล้ว ที่แค่ฝันไป...


14 เมษายน 2554

หลุม

เรามักจะตกหลุมพรางแบบเดิมๆ
หลุมแบบที่รู้ว่ายังไงก็ไม่สามารถอยู่ในนั้นได้ตลอดไป
เรามักจะรีบตะเกียกตะกายปีนขึ้นมาจากหลุม
นั่งอยู่ปากหลุม มองลงไป และร้องไห้
มันเศร้าเกินไป...ที่เห็นความกลัวของตัวเองชัดเจน
มันเศร้าเกินไป...ที่รู้จักมันดีขนาดนั้น
มันเศร้าเกินไป...ที่เป็นอย่างนี้ซ้ำวน ครั้งแล้วครั้งเล่า
เราอ่อนแอเกินไปที่จะอยู่ในหลุม
แม้ว่าในนั้นจะแสนอบอุ่น
แม้จะรู้ว่า เมื่อปีนขึ้นมาเมื่อไหร่ เราจะต้องนั่งร้องไห้ก็ตาม

10 เมษายน 2554

Life and Death


"ความตายดำรงอยู่ มิใช่ภาคตรงข้าม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"
Norwegian Wood, Haruki Murakami แปลสำนวนไทยโดย นพดล เวชสวัสดิ์

ช่วงนี้ได้ดูหนังหลายๆเรื่องที่พูดเกี่ยวกับเรื่องความตาย และความสูญเสีย  ที่ดูจบแล้วก็ยังสั่นไหวอยู่ในหัว และทำให้กลับมาคิดเชื่อมโยงต่อกับตัวเองและคนรอบข้าง




ในหนังเรื่อง After Life ของ Hirokazu Kore-eda พูดถึงความตาย ในแง่มุม จินตนาการโลกหลังความตาย ในหนังเรื่องนี้  คนที่ตายแล้ว จะเดินทางไปสู่ที่ที่หนึ่ง และในที่แห่งนั้น คุณจะต้องเลือกความทรงจำหนึ่งความทรงจำเดียว ที่คุณอยากจะดำรงอยู่ด้วยนิรันดร์ และคุณก็มีเวลาไม่นานนักที่จะคิดตัดสินใจเลือก ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ตัวละครในเรื่องและเราย้อนคิดว่า เรื่องไหนในชีวิตนะที่ทำให้เรา มีความสุขมากที่สุด?  นี่เป็นเงื่อนไขในหนัง ที่ตั้งคำถามกับคนตายในเรื่อง และถามคนเป็นที่นั่งดูอยู่ที่หน้าจออย่างเรา ว่า ในชีวิตเรานั้น เรื่องไหนหรือ? ที่มันอยู่ในใจ และอยากประทับเรื่องนั้นไว้ตลอดกาล  ซึ่งมันยากมากเลย ที่จะตอบคำถามนั้น  และนั่นก็เป็นจินตนาการหลังความตายที่เศร้าแต่งดงาม




ในหนังเรื่อง Fountain ของ Darren Aronofsky พูดถึงความตาย ในแง่มุมของ ผู้ที่กำลังเผชิญกับความตายอย่างสงบ และผู้ที่กำลังยื้อความตายของอีกฝ่ายอย่างสุดกำลัง ภรรยาสาวที่พร้อมแล้วสำหรับความตาย พร้อมออกเดินทางและมองมันด้วยมุมมองที่งดงาม กับสามีที่ทำทุกวิถีทางที่จะหาทางรักษาเธอไม่ให้ความตายพรากเธอจากไป เหลือเวลาไม่มากนัก เธอขอเพียงได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับเขา และเธออยากจะให้เขาสงบ เข้าใจ ปล่อยวาง และก้าวเดินต่อไปได้ในชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่ง่ายเลยสำหรับในทั้งสองสถานการณ์ สำหรับเรา ช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจในเรื่องความเป็นความตายของคนที่เรารัก มันยากเหลือเกิน เราจะมีสิทธิอะไรไปตัดสินสิทธิในการมีชีวิตอยู่ต่อของใคร การตั้งรับกับความตายก็เช่นกัน คงต้องทำความเข้าใจ และยอมรับว่าความตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และ หาวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองตามวิถี




ในหนังเรื่อง Rabbit Hole ของ John Cameron Mitchell พูดถึงความสูญเสียจากความตาย ที่ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ข้างหลัง ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แล้วจะทำอย่างไร เมื่อความโศกเศร้าไม่จากไปเสียที "มันเคยหายไปไหม ?"  "มันไม่หายไป และเราแค่จะทนอยู่กับมันได้เท่านั้นเอง" บทสนทนาระหว่างแม่ลูก ที่ต่างผ่านพบความสูญเสีย ฉายภาพของความทุกข์และการดำรงอยู่ต่อไปของเราได้เป็นอย่างดี และในโลกคู่ขนาน ฉันอาจกำลังมีความสุขดี มันคงต้องมีสักทางในการเยียวยาใจเรา แม้ว่ามันอาจใช้เวลาเนิ่นนานเหลือเกิน




ในหนังเรื่อง In a Better World ของ Susanne Bier แม้จะไม่ได้พูดถึงประเด็นความตายโดยตรง แต่ก็มีเด็กน้อยที่บาดเจ็บไม่น้อยจากแผลความทรงจำเกี่ยวกับความตายของแม่ และมันได้ส่งผลกระทบมากมายกับการใช้ชีวิตและเติบโตของเด็กน้อยคนนั้น มีฉากหนึ่งในเรื่อง ที่ผู้ใหญ่อธิบายเรื่องความตายให้เด็กน้อยฟังได้อย่างเห็นภาพ สรุปความได้ว่า "ความตายกับเราเหมือนมีม่านบางๆกั้นอยู่ เมื่อคนใกล้ตัว หรือคนที่เรารักรอบตัวเราตายไป ม่านที่กั้นอยู่นั้นจะถูกดึงออก ทำให้เราเห็นความตายชัดขึ้น และรู้สึกใกล้กับมันมากๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ม่านนั้นก็จะกลับมากั้นเรากับความตายไว้เหมือนเดิม และจากนั้น เราก็จะต้องใช้ชีวิตกันต่อไป" เราชอบคำอธิบายนี้มาก สำหรับเราคำอธิบายนี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนกับความรู้สึกและภาวะที่มันเข้าๆออกๆ ต่อความตาย

ในช่วงที่ผ่านมา ม่านของเราถูกดึงออกไป และสักพักมันก็คงจะกลับมากั้นไว้อย่างเดิม แต่ที่แน่ยิ่งกว่าแน่คือ ชีวิตยังต้องเดินต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอีกนับไม่ถ้วน จนกว่าความตายจะพรากเราไปจากโลกใบนี้

8 เมษายน 2554

จากหมูตัวเล็กกระจึ๋งเดียว




"มันเป็นเรื่องยากที่จะกล้าหาญ" พิกเลตพูด สูดน้ำมูกนิดๆ "ในเมื่อเราตัวเล็กกระจึ๋งเดียว"
แร็บบิต ผู้ซึ่งลงมือเขียนอะไรยุกยิกไปบ้างแล้ว เงยหน้าขึ้นมองและพูดว่า
"เพราะตัวเล็กมากน่ะสิ นายถึงมีประโยชน์ในการผจญภัยที่กำลังรอเราอยู่"






สำหรับพิกเลตแล้ว   พูห์ร้องเป็นเพลงว่า...

สัตว์น้อยตัวจ้อยผู้แสนขี้อาย
ฝันอยากกลายกลับกล้าสูงใหญ่
มันมัวรีรอลังเล อ่อนไหว
รอโอกาสได้มีชีวิตชีวา

แต่เวลาแล่นฉิวผ่านเลย
โอกาสเกิดแล้วตายใหม่...
หากกลัวรีรอไม่ทำสิ่งใด
คงบินไม่ได้แม้มีปีกงาม

แต่ 'ตัวตน' อันกล้าสามารถ
ที่เธออยากเห็นและเป็นเสมอ
ไม่มีใครทำให้ได้นะเออ
เธอต้องสร้างด้วยความพิเศษของเธอเอง

เธออาจเป็นดั่งดาวนำทาง
ได้ฉายแสงสว่างของเธอเสมอ
หากเธอใช้ความพิเศษของเธอ
อีกทั้งยอมเป็นเกลอกับเธอเอง

ส่วนความอ่อนไหวอันน่าอับอาย
ที่อยากให้หายวับไปเสมอ
อย่าได้ดูถูกมันเชียวนะเออ
เผลอเผลอมันอาจช่วยเปิดประตู

พาเธอสู่โลกกว้างไกลหลากหลาย
ที่คนมากมายอาจไม่เคยรู้
แล้วความภูมิใจที่เธอมีอยู่
จะนำเธอสู้ชีวิตต่อไป

มันจะไม่พาเธอดิ่งเหว
มันจะไม่พาความล้มเหลวมาผลักไส
แต่มันจะทำให้เธอรู้ต่อไป
ว่าในความตัวเล็กนั้น...ยิ่งใหญ่นา


จากหนังสือ เต๋อแบบพิกเลต (The Te of Piglet) 
เขียนโดย Benjamin Hoff แปลโดย อัจฉรา ประดิษฐ์ 






เพิ่งได้หนังสือเล่มนี้จากงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ ด้วยความเป็นพิกเลต และปกสีหวาน ทำให้ตัดสินใจไม่ยากเลยที่จะจ่ายเงินซื้อ "มันเป็นเรื่องยากที่จะกล้าหาญ ในเมื่อเราตัวเล็กกระจึ๋งเดียว" ประโยคนี้ของพิกเลตสะท้อนความเป็นหมูน้อยขี้กลัว ที่อ่านแล้ว 'เห็นตัวเอง' 

Benjamin Hoff เล่าปรัชญาตะวันออก ผ่านมุมมองของ ตัวละครต่างๆในวรรณกรรม วินนี่ เดอะ พูห์ ซึ่งเล่มนี้พระเอกคือ พิกเลต หมูสีชมพูตัวจิ๋วที่ตัวเล็ก ช่างฝัน ขี้กลัว อารมณ์อ่อนไหวและอ่อนน้อมถ่อมตน Hoff อธิบายไว้ว่า
 "เต๋อ มีความหมายตามตัวว่า คุณธรรมที่กระทำออกมา เป็นคุณสมบัติของคนพิเศษ ผู้มีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัว แถมคนแบบนี้ยังไม่ค่อยรู้ตัวเสียด้วยว่าตัวเองพิเศษ"  

หลายครั้งที่เรามักรู้สึกตัวเล็กเหลือเกินท่ามกลางผู้คน เรามองคนอื่น สิ่งอื่น ใหญ่โตไปหมด เมื่อมองเห็นอย่างนั้น จะรู้สึกตัวเองไม่เก่ง ไม่ดี ไร้ค่า ความเคารพนับถือในตัวเองหล่นฮวบฮาบ ทำให้สูญเสียความมั่นใจไปเลย และหลายครั้งก็ต้องเศร้าเพราะเรื่องเหล่านี้ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็รู้สึกได้กำลังใจ จากแง่มุมที่ผู้เขียนยกมาจากหมูตัวเล็ก บางทีเราห้ามไม่ได้หรอกกับความรู้สึกแบบนั้น (ที่มาเองราวกับความเคยชินอัตโนมัติ) แต่แง่คิดแบบนี้ก็อาจเป็นการให้กำลังใจตัวเอง เพื่อสู้กับความกลัวในใจเรา สู้กับความคิดที่เราสร้างขึ้นมาเอง อาจจะเหมือนกับพิกเลต ที่กลัวเจ้าเฮฟฟาลัมป์จนตัวสั่น ทั้งที่ยังไม่เคยเห็นเลยว่าเจ้าตัวเฮฟฟาลัมป์นี้หน้าตาเป็นยังไง

     

7 เมษายน 2554

ยาลดความคาดหวัง

โลกนี้น่าจะมีขาย "ยาลดความคาดหวัง"
เจ็บป่วยด้วยโรค คาดหวัง เรื้อรังยาวนาน
เป็นๆ หายๆ ทำให้บางครั้งก็ยิ้ม บางครั้งก็หงอย
 
ไม่ขอกับถึงขั้น หายขาด ไม่คาดหวังกับอะไรเลย
ขอแค่ ลด ความคาดหวังที่มีให้มันน้อยลงเท่านั้นเอง

ซื้อได้ที่ไหน ใครมีขายบ้าง ?

4 เมษายน 2554

ฉายหนังซ้ำ

น่าแปลกใจ
เรื่องบางเรื่อง ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ซ้ำอีกก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
แถมเหตุการณ์ยังคล้ายเดิมเสียจน อดแปลกใจไม่ได้
ราวกับฉายหนังซ้ำ เหมือน Flashback กลับไปยังไงอย่างงั้น

ก็ไม่ได้มีอะไร เพียงแค่แปลกใจ และมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรหรอก
อาจจะดีกว่าครั้งที่แล้วเสียด้วยซ้ำ
เพราะได้เรียนรู้แล้ว ว่ามันอยู่ที่ความคาดหวังของเราต่างหาก
และได้เรียนรู้เพิ่มว่า "หนังมีโอกาสฉายซ้ำ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น"