10 เมษายน 2554

Life and Death


"ความตายดำรงอยู่ มิใช่ภาคตรงข้าม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"
Norwegian Wood, Haruki Murakami แปลสำนวนไทยโดย นพดล เวชสวัสดิ์

ช่วงนี้ได้ดูหนังหลายๆเรื่องที่พูดเกี่ยวกับเรื่องความตาย และความสูญเสีย  ที่ดูจบแล้วก็ยังสั่นไหวอยู่ในหัว และทำให้กลับมาคิดเชื่อมโยงต่อกับตัวเองและคนรอบข้าง




ในหนังเรื่อง After Life ของ Hirokazu Kore-eda พูดถึงความตาย ในแง่มุม จินตนาการโลกหลังความตาย ในหนังเรื่องนี้  คนที่ตายแล้ว จะเดินทางไปสู่ที่ที่หนึ่ง และในที่แห่งนั้น คุณจะต้องเลือกความทรงจำหนึ่งความทรงจำเดียว ที่คุณอยากจะดำรงอยู่ด้วยนิรันดร์ และคุณก็มีเวลาไม่นานนักที่จะคิดตัดสินใจเลือก ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ตัวละครในเรื่องและเราย้อนคิดว่า เรื่องไหนในชีวิตนะที่ทำให้เรา มีความสุขมากที่สุด?  นี่เป็นเงื่อนไขในหนัง ที่ตั้งคำถามกับคนตายในเรื่อง และถามคนเป็นที่นั่งดูอยู่ที่หน้าจออย่างเรา ว่า ในชีวิตเรานั้น เรื่องไหนหรือ? ที่มันอยู่ในใจ และอยากประทับเรื่องนั้นไว้ตลอดกาล  ซึ่งมันยากมากเลย ที่จะตอบคำถามนั้น  และนั่นก็เป็นจินตนาการหลังความตายที่เศร้าแต่งดงาม




ในหนังเรื่อง Fountain ของ Darren Aronofsky พูดถึงความตาย ในแง่มุมของ ผู้ที่กำลังเผชิญกับความตายอย่างสงบ และผู้ที่กำลังยื้อความตายของอีกฝ่ายอย่างสุดกำลัง ภรรยาสาวที่พร้อมแล้วสำหรับความตาย พร้อมออกเดินทางและมองมันด้วยมุมมองที่งดงาม กับสามีที่ทำทุกวิถีทางที่จะหาทางรักษาเธอไม่ให้ความตายพรากเธอจากไป เหลือเวลาไม่มากนัก เธอขอเพียงได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับเขา และเธออยากจะให้เขาสงบ เข้าใจ ปล่อยวาง และก้าวเดินต่อไปได้ในชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่ง่ายเลยสำหรับในทั้งสองสถานการณ์ สำหรับเรา ช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจในเรื่องความเป็นความตายของคนที่เรารัก มันยากเหลือเกิน เราจะมีสิทธิอะไรไปตัดสินสิทธิในการมีชีวิตอยู่ต่อของใคร การตั้งรับกับความตายก็เช่นกัน คงต้องทำความเข้าใจ และยอมรับว่าความตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และ หาวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองตามวิถี




ในหนังเรื่อง Rabbit Hole ของ John Cameron Mitchell พูดถึงความสูญเสียจากความตาย ที่ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ข้างหลัง ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แล้วจะทำอย่างไร เมื่อความโศกเศร้าไม่จากไปเสียที "มันเคยหายไปไหม ?"  "มันไม่หายไป และเราแค่จะทนอยู่กับมันได้เท่านั้นเอง" บทสนทนาระหว่างแม่ลูก ที่ต่างผ่านพบความสูญเสีย ฉายภาพของความทุกข์และการดำรงอยู่ต่อไปของเราได้เป็นอย่างดี และในโลกคู่ขนาน ฉันอาจกำลังมีความสุขดี มันคงต้องมีสักทางในการเยียวยาใจเรา แม้ว่ามันอาจใช้เวลาเนิ่นนานเหลือเกิน




ในหนังเรื่อง In a Better World ของ Susanne Bier แม้จะไม่ได้พูดถึงประเด็นความตายโดยตรง แต่ก็มีเด็กน้อยที่บาดเจ็บไม่น้อยจากแผลความทรงจำเกี่ยวกับความตายของแม่ และมันได้ส่งผลกระทบมากมายกับการใช้ชีวิตและเติบโตของเด็กน้อยคนนั้น มีฉากหนึ่งในเรื่อง ที่ผู้ใหญ่อธิบายเรื่องความตายให้เด็กน้อยฟังได้อย่างเห็นภาพ สรุปความได้ว่า "ความตายกับเราเหมือนมีม่านบางๆกั้นอยู่ เมื่อคนใกล้ตัว หรือคนที่เรารักรอบตัวเราตายไป ม่านที่กั้นอยู่นั้นจะถูกดึงออก ทำให้เราเห็นความตายชัดขึ้น และรู้สึกใกล้กับมันมากๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ม่านนั้นก็จะกลับมากั้นเรากับความตายไว้เหมือนเดิม และจากนั้น เราก็จะต้องใช้ชีวิตกันต่อไป" เราชอบคำอธิบายนี้มาก สำหรับเราคำอธิบายนี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนกับความรู้สึกและภาวะที่มันเข้าๆออกๆ ต่อความตาย

ในช่วงที่ผ่านมา ม่านของเราถูกดึงออกไป และสักพักมันก็คงจะกลับมากั้นไว้อย่างเดิม แต่ที่แน่ยิ่งกว่าแน่คือ ชีวิตยังต้องเดินต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอีกนับไม่ถ้วน จนกว่าความตายจะพรากเราไปจากโลกใบนี้

ไม่มีความคิดเห็น: